ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที
กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

  • บ้านโครงการใหม่
  • บ้านโครงการใหม่
  • ค้นหาแบบละเอียด
  • บ้านพรีคาสท์ ดียังไง?

    6 ม.ค. 58 32,457

    บ้านพรีคาสท์ : นวัตกรรมการสร้างบ้านจากต่างประเทศ

    ช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ้านจัดสรร และทาวน์เฮ้าส์ในบ้านเราเริ่มมีการนำเทคโนโลยีการก่อสร้างบ้านแบบพรีคาสท์ (Precast) มาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนเวลาได้ยินการก่อสร้างแบบนี้ ก็อาจสงสัยว่า เอ๊ะ!! บ้านแบบนี้จะดีกว่าการสร้างบ้านแบบก่ออิฐฉาบปูนเดิมๆ ยังไง หรือจะมีความคงทนหรือเปล่า จริงๆ แล้วการก่อสร้างแบบพรีคาสท์นั้นมีมาตั้งนานแล้วในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสะพาน ทางยกระดับ อาคารสูง หรือบ้านในต่างประเทศ ซึ่งได้มีการพิสูจน์ในต่างประเทศแล้วว่าแข็งแรงมีข้อดีหลายอย่าง ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้ประกอบการบ้านเราจึงเริ่มนำเทคโนโลยีพรีคาสท์นี้มาใช้ในบ้านเรามากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้เรามีเนื้อหาดีๆ เกี่ยวกับพรีคาสท์มาฝากกันค่ะ มาดูกันว่า พรีคาสท์คืออะไร ดีสำหรับผู้บริโภคยังไง และขั้นตอนการสร้างบ้านแบบนี้เป็นยังไงบ้าง 
     รูปแบบหลักๆ ของระบบสร้างบ้านกึ่งสำเร็จรูป
    ปัจจุบันนี้ เนื่องจากมาตรฐานแรงงานคนในบ้านเราที่ก่อสร้างแบบก่ออิฐฉาบปูนแล้วมักออกมาไม่ได้มาตรฐาน หรือทำงานด้วยความล่าช้า ผู้ประกอบการหลายรายจึงหันมาใช้วิธีการสร้างบ้านจัดสรรด้วยระบบกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้นเรื่อยๆ และพรีคาสท์ก็เป็นหนึ่งในรูปแบบการสร้างบ้านประเภทนี้ เราลองมาดูกันค่ะว่าปัจจุบันในบ้านเรา มีระบบกึ่งสำเร็จรูปหลักๆ อะไรบ้าง   
    1.   ระบบพรีคาสท์ (Precast Concrete)
    ระบบนี้เป็นการนำเอาชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปที่หล่อมาจากโรงงาน มาประกอบ หรือติดตั้งเป็นบ้านขึ้นมา โดยบ้านหลังหนึ่งอาจมีส่วนประกอบพรีคาสท์หลายส่วน เช่น ชิ้นส่วนผนังสำเร็จรูป ชิ้นส่วนพื้นสำเร็จรูป หรือชิ้นส่วนรั้วสำเร็จรูป เป็นต้น หากบ้านเป็นแบบ Fully Precast จะไม่มีเสาและคาน แต่จะเป็นระบบโครงสร้างผนังรับน้ำหนักแทน ระบบพรีคาสท์ในไทยมีการใช้มานานแล้ว เช่น การก่อสร้างสะพาน หรือทางยกระดับ และในวงการอสังหาริมทรัพย์ ก็เริ่มมีการนำนวัตกรรมนี้มาใช้ในการสร้างบ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์ และคอนโดมิเนียมมากขึ้นเรื่อยๆ                                                                    

    ภาพการประกอบผนังพรีคาสท์ (Precast)
    2.   ระบบอุโมงค์ (Tunnel Form)
    ระบบนี้เป็นระบบโครงสร้างที่เทคอนกรีตผนังรับน้ำหนัก และพื้นพร้อมกันอย่างต่อเนื่องโดยใช้ไม้แบบ (เหล็ก) เป็นระบบที่ใช้กันมากในการสร้างทาวน์โฮม หรือทาวน์เฮ้าส์ซึ่งมีผนังอาคารแต่ละหลังเรียงแถวติดกัน ข้อดีคือ ปัญหารั่วซึมน้อย เพราะมีก็เพียงรอยต่อหลักๆ เช่น รอยต่อระหว่างห้องเท่านั้น และยังมีจุดเด่นคือความรวดเร็วและความแข็งแรงอีกด้วย  แต่จุดอ่อนสำคัญของระบบนี้คือผนังจะไม่เรียบ และแบบบ้านก็ค่อนข้างน้อย ไม่มีความหลากหลาย


    ภาพการก่อสร้างระบบอุโมงค์ (Tunnel)
    ขอบคุณภาพจาก thai.alibaba.com
    3.   ระบบกล่อง (Modular)
    Modular หรือแบบกล่องมิติหรือขนาด เป็นการประกอบบ้านขึ้นจาก Module หรือชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงานซึ่งเป็นระบบที่มีการบอกขนาดจากจุดอ้างอิง หรือพิกัดอ้างอิงในสามมิติ คือ พิกัดความสูง ความกว้าง และความยาว ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ จะเป็นส่วนโครงสร้างหลักๆ ของบ้าน เช่น ผนังทั้งภายในและภายนอก ระบบนี้เป็นการผลิตและควบคุมคุณภาพจากที่โรงงานแล้วนำมาประกอบหน้างาน ซึ่งทำให้สามารถลดระยะเวลาการก่อสร้างได้มาก และมีความสม่ำเสมอ และมีคุณภาพได้มาตรฐาน ตัวอย่างบ้านแบบนี้ก็เช่น บ้าน SCG Heim (คลิกเพื่อดูบทความ)
    ภาพการก่อสร้างบ้านประกอบระบบกล่อง (Modular)
    บ้านพรีคาสท์คอนกรีต (Precast Concrete) คืออะไร ?
    อธิบายแบบง่ายๆ ก็คือ การสร้างบ้านโดยใช้ระบบชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กหล่อสำเร็จมาประกอบเข้าด้วยกัน คำว่า "Pre" แปลว่า ก่อน คำว่า "Cast" แปลว่าการหล่อ หรือการเทในแบบ ดังนั้น เมื่อเอาสองคำนี้มารวมกันประกอบกับคำว่า "Concrete" ก็จะแปลได้ว่า การเท หรือการหล่อคอนกรีตเข้าไปในเบ้าหล่อ หรือแบบหล่อ (Mould) เสร็จแล้วนำไปบ่มในอุณหภูมิที่เหมาะสม แล้วก็ขนส่งคอนกรีตแต่ละชิ้นนั้นไปประกอบกันขึ้นมาเป็นทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านเดี่ยวที่หน้างาน ซึ่งคอนกรีตแต่ละชิ้นที่หล่อขึ้นมานั้นก็จะเป็นองค์ประกอบแต่ละส่วนของบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์นั่นเอง เช่น บางชิ้นก็เป็นส่วนพื้น บางชิ้นก็เป็นส่วนผนัง หรือบางชิ้นก็เป็นส่วนหน้าอาคาร (Facade) การก่อสร้างบ้านระบบพรีคาสท์มีกันมานานแล้วในต่างประเทศ ส่วนในบ้านเรานั้น เริ่มนิยมนำมาสร้างบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์กันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีความสะดวก รวดเร็ว และแข็งแรง แต่จริงๆ แล้ว ระบบพรีคาสท์ในบ้านเราก็มีการใช้มานานแล้วเช่นกันแต่ใช้กันในอุตสาหกรรมอื่น เช่น ใช้ในการสร้างสะพาน ทางด่วน ซึ่งคงไม่ต้องพูดถึงว่าหากนำระบบนี้มาสร้างบ้านแล้ว บ้านเราจะแข็งแรงขนาดไหน คิดง่ายๆ ก็คือเหมือนกับเราเอาชิ้นส่วนของทางด่วนมาประกอบเป็นบ้านเราเลย
    บ้านพรีคาสท์ดียังไงสำหรับผู้บริโภค ?
    ในตลาดขายบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์มักจะชอบโฆษณาว่า บ้านพรีคาสท์ดีอย่างโน้น ดีอย่างนี้ แต่ข้อดีเหล่านั้นมักจะเป็นข้อดีในมุมมองผู้ประกอบการ (หลักๆ ก็เช่น ร่นระยะเวลาการก่อสร้างในมากกว่าวิธีอื่นๆ ลดต้นทุนและแรงงานก่อสร้าง ก่อสร้างได้ในทุกพื้นที่ เป็นต้น) แต่วันนี้ เรามาดูกันว่า ข้อดีในมุมมองของผู้บริโภคจะมีอะไรบ้าง 
    ข้อดีสำหรับผู้บริโภค
    • การก่อสร้างมีคุณภาพสม่ำเสมอมาตรฐานเดียวกัน เพราะกระบวนการผลิตชิ้นงานคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปทุกขั้นตอนถูกควบคุมด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย และระบบคอมพิวเตอร์ ผลก็คือ งานจะออกมาดีกว่า ไม่มีปัญหาอย่างเช่น ฉาบปูนไม่ดี กำแพงไม่เรียบ หรือเสาเอียง และโอกาสที่งานจะออกมาคุณภาพไม่ดีเหมือนการใช้แรงงานคนในบางโครงการจะเป็นไปได้น้อยกว่า ตัวอย่างเช่น กรณีของคอนโดเดอะ เบส สุขุมวิท 77 ที่มีปัญหาโฟมแปลกปลอมอยู่ในผนังกำแพงนั้น ปัญหาที่พบเจอโฟมคือในส่วนของผนังก่ออิฐฉาบปูนโดยใช้แรงงานคน แต่ไม่ได้เกิดในส่วนของผนังพรีคาสท์ส่วนอื่นๆ ในโครงการเป็นต้น ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ในลิงก์ข่าวนี้ (คลิก)
    • คงทนแข็งแรงแม้กระทั่งแผ่นดินไหว ชิ้นงานทุกชิ้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งมีค่าความแข็ง (Stiffness) สูงกว่าระบบเสาโครง และผนังก่ออิฐ จึงมีความคงทนแข็งแรง และใช้เป็นโครงสร้างรับน้ำหนักชั้นบนได้ (Load Bearing Wall) ด้วยลักษณะโครงสร้างดังกล่าวทำให้ทนต่อแรงสะเทือนของแผ่นดินไหวได้มากกว่าการก่อสร้างแบบผนังก่ออิฐทั่วไป (ซึ่งไม่สามารถรับแรงกระแทก หรือแรงกระทบด้านข้างได้ดีเท่าพรีคาสท์คอนกรีต) 
    • ไม่ต้องห่วงเรื่องเสากลางบ้าน เพราะเป็นระบบการก่อสร้างที่ไม่มีเสาและคาน แต่ใช้ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป เป็นตัวรับน้ำหนักของบ้าน ทำให้บ้านมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และก่อให้เกิดความสวยงามในการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ที่มีความลงตัวมากกว่า
    • เรียบสวยเนี้ยบกว่า ส่วนประกอบทุกชิ้นผ่านระบบควบคุมคุณภาพให้สม่ำเสมอ และขัดผิวจนเรียบจึงได้ระดับเท่ากัน ทาสี หรือตกแต่งด้วยวอลล์เปเปอร์ได้ทันที ไม่มีปัญหาผนังเป็นคลื่นเหมือนการก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป 
    • ช่วยป้องกันความร้อน มีค่าความเป็นฉนวนสูง จึงสามารถป้องกันความร้อนจากภายนอกได้ดี แต่หากบ้านโดนแดดนานๆ ก็อาจเกิดการสะสมความร้อนได้เช่นกัน (ดูข้อจำกัดด้านล่าง)
    • มีความต้านทานไฟสูงกว่า เพราะคอนกรีตมีคุณสมบัติที่ทนไฟมากกว่ากำแพงก่ออิฐ หรือผนังก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป และมีส่วนช่วยป้องกันไฟไม่ให้ลุกลามไปยังห้องข้างเคียงได้ด้วย ปกติแล้วคอนกรีตจะสามารถต้านทานไฟได้มากกว่า 2 ชั่วโมง ในขณะที่ผนังก่ออิฐฉาบปูนจะสามารถทนไฟได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 
    • ป้องกันเสียงรบกวน วัสดุคอนกรีตเป็นวัสดุที่มีความทึบเสียงมากกว่าวัสดุประเภทอิฐและไม้ จึงสามารถป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก หรือเสียงดังจากห้องข้างเคียงได้ดีกว่าผนังก่ออิฐฉาบปูน 
    • ต้านทานการซึมน้ำสูง ทำให้สีพื้นผิวมีความคงทน สวยงาม และไม่เกิดเชื้อรา โดยปกติ เมื่อมีฝนตก ผนังคอนกรีตสามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดีกว่าอิฐซึ่งมีความพรุนสูงทำให้เมื่อมีน้ำ หรือฝนตก อิฐจะดูดซึมน้ำ หรือความชื้นเข้ามาที่ผนัง ทำให้อาจเกิดเชื้อรา หรือสีร่อนได้  
    • เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งลดมลภาวะทางเสียง ฝุ่น เศษอิฐ เศษปูน ขยะจากคนงานก่อสร้าง และปัญหาการจราจรในสถานที่ก่อสร้าง
    • ค่าเบี้ยประกันภัยและค่าบำรุงรักษาต่ำ เพราะเทคโนโลยีพรีคาสท์ทำให้บ้าน และอาคารมีความแข็งแรง คงทน และมีอายุการใช้งานยาวนาน ทำให้ค่าเบี้ยประกันภัยต่ำกว่าโครงสร้างประเภทอื่นๆ และยังส่งผลให้ค่าบำรุงรักษาต่ำ เนื่องจากจะเสียค่าใช้จ่ายในการทาสีใหม่ในรอบ 8-10 ปี เท่านั้น
    ข้อดีสำหรับผู้ประกอบการ 
    • สามารถก่อสร้างได้ในทุกพื้นที่ด้วยการหล่อชิ้นส่วนคอนกรีตจากโรงงาน ชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูปจะมีการทำกันในโรงงาน ก่อนที่จะนำมาติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง ทำให้สามารถขนย้ายไปก่อสร้างได้แม้ในที่ห่างไกล หรือในกรณีที่ Site งานสภาพอากาศไม่ดี และการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปจากโรงงานที่ออกมาจะมีคุณภาพเท่าเทียมกันเสมอ
    • ลดต้นทุนการก่อสร้าง และแรงงานมากกว่าการก่อสร้างด้วยวิธีอื่นๆ แต่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องมีการผลิต หรือสร้างบ้านพร้อมกันหลายหลัง (Economy of Scale) เช่นในลักษณะของบ้าน หรือทาวน์เฮ้าส์จัดสรร เพราะหากไม่เป็นลักษณะของการผลิต หรือสร้างพร้อมกันหลายหลัง ต้นทุนต่อหลังจะแพงกว่าบ้านก่ออิฐฉาบปูนทั่วไป 
    • ลดระยะเวลาการก่อสร้าง ใช้เวลาน้อยกว่าการก่อสร้างด้วยวิธีอื่นๆ
    ข้อจำกัดของบ้านพรีคาสท์
    ต้องยอมรับว่าระบบสำเร็จรูปเมื่อมีข้อดี ก็อาจจะตามมาด้วยข้อจำกัด หรือข้อด้อยด้วยเช่นกัน ซึ่งข้อจำกัดหลักๆ ของบ้านระบบพรีคาสท์ในมุมมองของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านประเภทนี้มีดังต่อไปนี้
    • ผนังพรีคาสท์จะไม่สามารถเจาะช่องหรือทุบผนังเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้สอยได้ ในระบบพรีคาสท์ ผนังถูกออกแบบไว้ให้รองรับน้ำหนักในแนวตั้งด้วยแทนเสา และคาน ดังนั้น การทุบรื้อ เจาะช่อง สกัด หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ จะมีผลต่อความแข็งแรง และการถ่ายแรงของโครงสร้างโดยตรง ดังนั้น ก่อนจะดำเนินการดังกล่าว หรือการเปลี่ยนฟังก์ชั่นภายในบ้าน (เช่นทุบห้อง 2 ห้องติดกันให้กลายเป็นห้องใหญ่ห้องเดียว) จึงควรต้องปรึกษาวิศวกรที่มีความรู้ก่อนการดำเนินการดังกล่าวทุกครั้ง อย่างไรก็ดี หากเป็นการเจาะเล็กน้อย เช่น เพื่อแขวนภาพนั้นสามารถทำได้
    • รอยต่อหรือจุดเชื่อมต่อ (Joint) อาจมีปัญหาน้ำรั่วซึม โดยปกติการก่อสร้างด้วยระบบพรีคาสท์แบบผนังรับแรง จะมีจุดเชื่อมต่อของผนังแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ (ก) รอยต่อผนังตามแนวตั้ง เช่นมุมของบ้าน หรือแนวผนังที่ชนกัน ซึ่งทั้งหมดนี้จะพบทุกชั้นของบ้าน และ (ข) รอยต่อผนังตามแนวนอน เช่นรอยต่อของแผ่นผนังชั้นบน และชั้นล่างต่อเชื่อมกันยาวโดยรอบตัวบ้าน รอยต่อเหล่านี้ หากประกอบกันไม่ดี หรือวัสดุเชื่อมต่อไม่ดี หรือเสื่อมสภาพ ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาเรื่องการซึมน้ำ ความชื้น และส่งผลให้สีหลุดร่อนตามมาได้
    • แบบบ้านพรีคาสท์อาจมีไม่หลากหลาย เนื่องจากบ้านพรีคาสท์เป็นการก่อสร้างด้วยระบบสำเร็จรูป ดังนั้น บางดีไซน์จึงอาจจะดูคล้ายกล่องได้ ถ้าหากอยากได้ลูกเล่นให้บ้านเยอะๆ ก็ต้องออกแบบ และทำหลายแผ่นค่าใช้จ่ายก็จะสูงมากขึ้นตามลำดับ
    • เก็บความร้อน เนื่องจากบ้านพรีคาสท์คือบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก และคอนกรีตเป็นวัสดุที่มีความทึบสูง (คือมีความหนาแน่นสูง) มากกว่าเมื่อเทียบกับอิฐหรือปูน ทำให้มีการนำความร้อน และอมความร้อนได้มากกว่า ส่งผลให้อากาศภายในห้องที่ทำด้วยผนังพรีคาสท์ มักจะมีอุณหภูมิสูงกว่าห้องที่ทำจากอิฐหรือปูนเมื่อมีแดดส่องผนังพรีคาสท์เป็นระยะเวลานาน 
    ปัจจุบันพรีคาสท์ถือเป็นเรื่องปกติในวงการอสังหาฯ ไปแล้ว
    ปัจจุบันผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายๆ รายหันมาใช้วิธีการสร้างบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมแบบพรีคาสท์กันมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างรายใหญ่ๆ เลยก็เช่น พฤกษา และแสนสิริ ซึ่งมีใช้ทั้งในโครงการบ้านจัดสรร ทาวน์เฮ้าส์จัดสรร และคอนโดมิเนียม เพราะทั้งพฤกษา และแสนสิริเป็นผู้ประกอบการที่มีโรงงานพรีคาสท์เป็นของตัวเอง (ซึ่งเราจะไปเยี่ยมชมโรงงานของพฤกษากันข้างล่างนี้) หรือว่าอนันดาฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการชั้นนำในตลาดคอนโดมิเนียม ก็ใช้พรีคาสท์สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมหลายๆ โครงการเช่นกัน รวมถึงในต่างประเทศ การก่อสร้างอาคาร สถาปัตยกรรมชั้นนำของโลก และอาคารสูงหลายอาคารในเมืองใหญ่ๆ ก็ใช้ระบบพรีคาสท์ด้วยเช่นกัน  เรามาลองดูตัวอย่างกันค่ะ 

    คอนโดมิเนียมหลายโครงการของพฤกษาใช้ระบบ Precast ในการก่อสร้าง 

    คอนโดมิเนียมหลายโครงการของอนันดาก็ใช้ระบบ Precast ในการก่อสร้างเช่นกัน 

    ตัวอย่าง VDO Graphic แสดงการสร้างบ้าน Precast ในต่างประเทศ

    Australia - หลังคารูปเสี้ยววงกลมแต่ละชิ้นของ Opera House ในซิดนีย์ เป็นพรีคาสท์คอนกรีต

    Singapore - The Sail at Marina Bay คอนโดมิเนียมสูง 70 ชั้นริมน้ำ
    เป็นอาคารที่พักอาศัยที่สูงที่สุดในสิงคโปร์ โดยโครงสร้างอาคารเป็นระบบพรีคาสท์คอนกรีต 

    China - อาคาร Xiwang Tower หรือ Dalian Hope Mansion อาคาร 40 ชั้นในเมืองต้าเหลียน ประเทศจีน
    ที่ใช้กำแพงผนัง และกำแพงยึดกระจกเป็นพรีคาสท์คอนกรีตทั้งหมด
    ขั้นตอนการสร้างบ้านพรีคาสท์เป็นอย่างไร ?
    เริ่มด้วยขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนก่อน เช่น ผนังของบ้านพรีคาสท์

    1. Cleaning & Oiling ทำความสะอาดและเคลือบน้ำมันโต๊ะหล่อ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การหล่อผนัง 

    2. Plottering ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากเยอรมัน พ่นสีกำหนดจุดประตู
    หน้าต่าง ปลั๊กไฟ ท่อน้ำ ท่อร้อยสายไฟด้วยระบบคอมพิวเตอร์

    3. Shuttering วางแบบกั้นข้างเพื่อเป็นแนวในการเทคอนกรีต ด้วยระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ

    4. Reinforcement วางเหล็กเสริมเพิ่มความแข็งแรงตามตำแหน่งที่วางไว้

    5. Concrete Casting เทคอนกรีต ด้วยเครื่องเทคอนกรีตเพื่อความสม่ำเสมอ

    6. Smoothening ขัดหน้าคอนกรีตด้วยเครื่องขัดคอนกรีต
    เพื่อทำให้ผิวหน้าคอนกรีตเรียบสวยงาม โดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง

    7. Curing นำแผ่นพรีคาสท์เข้าเครื่องบ่มคอนกรีต 7 ชั่วโมง

    8. Shuttering Removing ถอดแบบกั้นข้างออกจากชิ้นงาน และนำมาตรวจสอบคุณภาพเพื่อให้ได้มาตรฐาน

    9. Tilting ยกโต๊ะหล่อชิ้นงานขึ้นเป็น 85 องศา และยกชิ้นงานออกจากโต๊ะหล่อ
    เพื่อตรวจสอบคุณภาพและเตรียมจัดเก็บชิ้นงาน

    10. Automade Storage จัดเก็บชิ้นงานในพื้นที่ Stock ด้วยระบบอัตโนมัติ หลังจากนั้นก็จะส่งชิ้นงานไปติดตั้งที่หน้างาน

    11. Concrete Recycling เป็นขั้นตอนที่มีเฉพาะโรงงานที่ 6 และ 7 เป็นการแยกน้ำ หิน และทราย เพื่อนำกลับไปสู่กระบวนการผลิตใหม่ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนในการผลิตได้อีกด้วย
    หลังจากนั้น ก็ถึงขั้นตอนการประกอบบ้านพรีคาสท์

    1. เตรียมฐานเสาเข็มไว้ก่อนการประกอบ โดยเสาเข็มจะฝังลึกลงดิน 3 เท่า ของตัวบ้าน

    2. ติดฐานรากบ้านและฐานรั้ว เสริมเหล็กและตรวจสอบก่อนเทคอนกรีต

    3. เทพื้นชั้นล่างและคานขั้นตอนนี้ต้องลงน้ำยาป้องกันปลวก ติดตั้งท่อประปา ท่อร้อยสายไฟฟ้า

    4. ประกอบผนังชั้นล่างก่อนโดยวางผนังชั้นล่างที่มีเหล็กเตรียมไว้ ยึดโครงสร้างผนังเข้าด้วยกันด้วยคอนกรีตพิเศษ

    5. ติดตั้งรั้วบ้าน

    6. ติดตั้งพื้นชั้นบนโดยการยกแผ่นพื้นสำเร็จรูปวางลงผนังชั้นล่าง ยึดรอยต่อด้วยเหล็กเส้น และติดตั้งผนังชั้นบนต่อไป

    7. ยกโครงสร้างหลังคา ที่ประกอบเป็นชุดเรียบร้อยแล้วลงบนผนังชั้นบน
    ตรวจสอบคุณภาพให้ครบถ้วนอีกครั้ง และมุงหลังคาด้วยกระเบื้อง

    วีดีโอขั้นตอนการสร้างบ้านพรีคาสท์
    เยี่ยมชมโรงงานพรีคาสท์ของจริง
    CheckRaka.com ได้มีโอกาสไปเยียมชมโรงงานพรีคาสท์ของพฤกษา โรงที่ 1-5 ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี บนเนื้อที่กว่า 190 ไร่ และอีกที่คือโรงงานพฤกษาพรีคาสท์ นวนคร จังหวัดปทุมธานี โรงที่ 6 และ 7 ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 เมื่อเข้าไปเยี่ยมชมโรงงานก็พบกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทีมงาน และตื่นตาตื่นใจกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากๆ มีการทำงานจากเครื่องจักรอย่างเป็นระบบ จากนั้นทีมงานก็พาเราไปเรียนรู้กระบวนการผลิตแผ่นพรีคาสท์ของบริษัทฯ ตลอดจนการควบคุมคุณภาพ ความปลอดภัย ซึ่งโรงงานได้ก่อสร้างขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2547 ปัจจุบันนี้โรงงาน Pruksa Precast มีทั้งสิ้น 7 โรงงาน ดังต่อไปนี้
    โรงงาน 1 ลงทุน 650 ล้านบาท ผลิตผนังสำเร็จรูปบ้านและคอนโดมิเนียม

    ภาพด้านหน้าของโรงงาน PCF 1 เริ่มดำเนินการปลายปี 2547
    โรงงาน 2 ลงทุน 150 ล้านบาท ผลิตรั้วบ้าน/ทาวน์เฮ้าส์  ในช่วงปี 2557 มีนโยบายใหม่ เปลี่ยนจากทำรั้วเป็นทำห้องน้ำสำเร็จรูป

    ภาพภายนอกของโรงงาน PCF 2 เริ่มดำเนินการเดือนกันยายน 2548
    โรงงาน 3 ลงทุน 250 ล้านบาท เป็นโรงงานที่สร้างขึ้นเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป เน้นหล่อพื้นและชิ้นส่วนคอนโดมิเนียม และปี 2554 เปลี่ยนมาเป็นหล่อพื้นคอนกรีตอัดแรง

    ภาพภายนอกของโรงงาน PCF 3 เริ่มดำเนินการเดือนธันวาคม 2550
    โรงงาน 4 ลงทุน 250 ล้านบาท เป็นโรงงานที่สร้างขึ้นเพื่อผลิตผนังสำเร็จรูปรับแรง (Bearing Wall for Condominium) และหน้ากากทาวน์เฮ้าส์ (Facade for Townhouse)

    ภาพภายนอกของ PCF 4 เริ่มดำเนินการเดือนกันยายน 2553
    โรงงาน 5 ลงทุน 800 ล้านบาท เป็นโรงงานที่ว่ากันว่า มีระบบทันสมัยที่สุดในโลกสำหรับผลิตแผ่นผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป และเป็นโรงงานที่เราเห็นกระบวนการผลิตแผ่นพรีคาสท์ข้างต้นด้วยค่ะ

    ภาพภายนอกของโรงงาน PCF 5 เริ่มดำเนินการเดือนธันวาคม 2553
    โรงงาน 6 และ 7 โดยโรงงานที่ 6 เป็นโรงงานหล่อผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป และโรงงานที่ 7 จะเป็นโรงงานหล่อพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กและคานคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรง ทั้ง 2 โรงงานนี้เป็น Green Factory แห่งแรกในประเทศไทยลดมลภาวะเรื่องเสียง ฝุ่น และน้ำเสียฯ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศเยอรมนี และนำระบบ Concrete Recycling มาใช้เพื่อนำน้ำทิ้งและเศษคอนกรีตจากการทำงานกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตอีกครั้ง ทำให้ไม่ไม่มีเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการผลิตและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

    ภาพมุมสูงของโรงงาน PCF 6 และ PCF 7  ปัจจุบันก่อสร้างได้คืบหน้าไปกว่า 80% แล้ว (ณ วันที่ 27 พ.ย. 57)
    ในมุมุมองของพฤกษา การขยายโรงงานเพิ่มเติมจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่ผู้บริโภค เพราะเมื่อกำลังการผลิตมาก สินค้าก็จะราคาถูกลง (Economy of Scale) และทางบริษัทก็วางแผนการควบคุมต้นทุน โดยเฉพาะในส่วนของคอนกรีตผสมเสร็จ ที่เลือกใช้ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีการเซ็นสัญญาตรึงราคาไว้ล่วงหน้าถึง 3 ปีแล้ว เรียกได้ว่าพฤกษาแต่งตัวเตรียมพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการสร้างบ้านพรีคาสท์ในเมืองไทยกันเลยทีเดียว  
    หลายปีมานี้ สังเกตได้ว่าพฤกษาเปิดโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และมีทั้งแนวราบและแนวดิ่ง ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พฤกษาสามารถก่อสร้างโครงการได้มากมายขนาดนั้นได้ ก็คือการที่พฤกษามีโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปเป็นของตัวเอง ซึ่งในตอนนี้พฤกษาได้เดินเครื่องผลิตอย่างเต็มกำลังใน 7 โรงงาน ทำให้บริษัทสามารถรองรับการผลิตบ้านได้ 1,120 หลัง/เดือน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการเปิดโครงการใหม่และแผนการส่งมอบบ้านคุณภาพให้กับลูกค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี นอกจากการผลิตผนังคอนกรีตเสริมเหล็กสำเร็จรูป, พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก และคานคอนกรีตเสริมเหล็กอัดแรงแล้ว ในปี 2557 พฤกษาได้นำห้องน้ำสำเร็จรูปมาใช้ในโครงการคอนโดมิเนียม ซึ่งข้อดีก็คือจะไม่มีการรั่วซึมของน้ำจากชั้นหนึ่งไปสู่อีกชั้นหนึ่งอย่างเด็ดขาด เพราะห้องน้ำจะไม่มีรอยต่อและควบคุมคุณภาพจากโรงงานอย่างละเอียดก่อนไปติดตั้งที่หน้างาน เดี๋ยวเราไปชมตัวอย่างห้องน้ำสำเร็จรูปกันเลยค่ะ

    ตัวอย่างห้องน้ำที่จัดแสดง

     ดูแล้วไม่แตกต่างไปจากห้องน้ำที่ใช้การก่ออิฐเลย แถมยังสวยกว่าด้วย

    ภายในห้องน้ำจะไม่มีรอยต่ออันเป็นสาเหตุให้น้ำรั่วซึมได้ หมดกังวลเรื่องนี้ได้เลยค่ะ

    ด้านหลังของห้องน้ำจะเห็นการวางระบบท่อน้ำเป็นระเบียบเรียบร้อย พร้อมสำหรับการนำไปติดตั้งที่หน้างานแล้ว
    สุดท้ายนี้ ถ้าหากใครยังมองภาพไม่ออกว่าระบบพรีคาสท์แตกต่างจากระบบเดิมยังไง เรามาเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นข้อแตกต่างบ้านแต่ละประเภทกันค่ะ
     เรื่อง  อิฐมอญ  อิฐมวลเบา  ระบบพรีคาสท์
    โครงสร้าง1 จะต้องมีเสาคานเสมอ  จะต้องมีเสาคานเสมอ  หากเป็นระบบผนังรับแรง (Beaming Wall System) จะไม่มีเสาคาน  
    ความแข็งแรง อาจไม่แข็งแรงเท่าพรีคาสท์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฝีมือแรงงาน การควบคุมคุณภาพของช่าง ดังนั้นจึงไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน  อาจไม่แข็งแรงเท่าพรีคาสท์ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ฝีมือแรงงาน การควบคุมคุณภาพของช่าง ดังนั้น จึงไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน โดยหลักการจะแข็งแรงกว่าการก่อสร้างด้วยอิฐ เพราะวัสดุทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กที่ผ่านขั้นตอนการผลิตแบบควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอน จึงมีมาตรฐานที่แน่นอน
     ระยะเวลาก่อสร้าง3 1.6 หลัง/เดือน  1.6 หลัง/เดือน  2 หลัง/เดือน 
     อัตราการกันเสียง4 35
    พอใช้
    37 
    ดี
    49 
    ดีมาก
     อัตราการต้านทาน
    ความร้อน5
     0.057-0.058 sqm K/M
    ไม่ดี
    0.77 sqm K/M
    ดี
    0.63 sqm K/M
    ดี 
     อัตราการทนไฟ
    (หนา 10 ซ.ม.)
    ทนได้ 1 ชั่วโมง  ทนได้ 3 ชั่วโมง   ทนได้ 2 ชั่วโมง  
    อัตราการดูดซึมน้ำ 13 - 18 %   30 - 40 % 6% 
     ราคา8  240 บาท/ตร.ม. 210-215 บาท/ตร.ม.  ไม่สามารถเทียบราคาระหว่างผนังก่ออิฐกับ Precast ได้ เพราะผนังก่ออิฐนั้น ราคายังไม่รวมในส่วนที่เป็นโครงสร้าง แต่ Precast ได้รวมโครงสร้างไปแล้ว
    แหล่งข้อมูล
    1 www.pruksa.com
    2 www.pruksa.com
    2 ศุภณัฐ วัฒนสินศักดิ์.  (2556). การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการก่อสร้างแบบดั้งเดิม และการก่อสร้างแบบผนังหล่อประกอบเพื่อพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างของหมู่บ้านจัดสรร. วิทยานิพนธ์ สาขาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
    4 www.dsphomesolutions.com
    5,6 ศุภณัฐ วัฒนสินศักดิ์.  (2556). การเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการก่อสร้างแบบดั้งเดิม และการก่อสร้างแบบผนังหล่อประกอบเพื่อพัฒนานวัตกรรมการก่อสร้างของหมู่บ้านจัดสรร. วิทยานิพนธ์ สาขาวิศวกรรมโยธา สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ www.dsphomesolutions.com
    7 www.pruksa.com
    8 สมชาย เจียมธีรสกุล.  (2557, มิถุนายน) ข้อดีและข้อด้อยของผนังอิฐมวลเบา. Home Buyers Guide, 21 (259), 145
    บ้านพรีคาสท์เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้การสร้างที่อยู่อาศัยสะดวก และแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) เพราะช่วยลดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งลดมลภาวะทางเสียง ฝุ่น และปัญหาการจราจรในสถานที่ก่อสร้างได้เป็นอย่างดี และการเลือกใช้ระบบพรีคาสท์มาสร้างบ้านยังช่วยลดความรำคาญใจจากฝีมือช่างที่ไม่ได้มาตรฐานอีกด้วย 
    การสร้างบ้านสำเร็จรูปก็เหมือนกับสินค้าสำเร็จรูปอื่นๆ ค่ะ ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อความสะดวกสบายในการใช้ประโยชน์ และเป็นนวัตกรรมการสร้างบ้านแบบใหม่ซึ่งมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย ทาง CheckRaka.com ก็หวังว่าทุกท่านจะมีความเข้าใจมากขึ้นกับบ้านระบบนี้ และมั่นใจได้ว่าการสร้างบ้านสำเร็จรูปแบบนี้นั้น มีความปลอดภัย และเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ในหลายๆ เรื่อง และถือเป็นตัวเลือกที่ดีตัวหนึ่งในการสร้างบ้านในยุคนี้ค่ะ

    บทความล่าสุดอื่นๆ

เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)