ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที
กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

  • คอนโดใหม่
  • คอนโดใหม่
  • ค้นหาแบบละเอียด
  • ไม่เข้าประชุมเจ้าของร่วมคอนโด จะมีข้อเสียไหม?

    25 ก.ย. 62 29,384

    ไม่เข้าประชุมเจ้าของร่วมคอนโด จะมีข้อเสียไหม?
    ช่วงต้นปีไปจนถึงเดือน 3 หรือ 4 ของแต่ละปี มักจะมีการเรียกประชุมเจ้าของร่วมคอนโดกัน หลายๆ คนสงสัยกันว่า ถ้าเขาเรียกประชุม แล้วเราไม่สนใจเข้าร่วมประชุม (ซึ่งก็มักจะเรียกประชุมวันเสาร์อาทิตย์ที่ทุกคนก็อยากนอนสบายๆ กันซะด้วย) จะมีข้อเสีย หรือเราจะเสียสิทธิอะไรบ้าง? วันนี้เรามีคำตอบครับ
    ข้อเสียของการไม่เข้าประชุม
    การไม่เข้าประชุมนั้นไม่ผิดกฎหมาย หรือผิดข้อบังคับคอนโดใดๆ แต่การไม่เข้าประชุมจะมีข้อเสียในหลายๆ เรื่อง และการเข้าหรือไม่เข้าประชุมจะสำคัญมากขึ้นเป็นพิเศษถ้าคอนโดของท่านมีปัญหาคณะกรรมการไม่โปร่งใส ทำงานไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำงานไม่ดี หรือถ้าคอนโดของท่านยังขายไม่ออกอยู่หลายห้องมาก เช่น เกินครึ่ง และบริษัทเจ้าของโครงการยังเป็นเจ้าของห้องชุดที่ยังขายไม่ออกนั้นอยู่ เพราะบางทีผลประโยชน์ของเจ้าของร่วมรายย่อย กับบริษัทเจ้าของโครงการอาจขัดกันในที่ประชุมได้ เช่นเรื่องว่าจะขึ้นค่าส่วนกลางหรือไม่ เป็นต้น
    โดยสรุปแล้ว ข้อเสียของการไม่เข้าประชุมอาจมีได้ดังนี้
    1.  เสียค่าใช้จ่ายและงานไม่เดิน -  ข้อเสียง่ายๆ ต่อตัวโครงการโดยรวมเลยก็คือ ถ้าลูกบ้านไม่เข้าประชุมกันหลายคนมากจนทำให้ขาดองค์ประชุม และต้องเลื่อนการประชุมบ่อยๆ จะทำให้คณะกรรมการจัดประชุมต้องเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม รวมถึงคนที่สละเวลาเข้าประชุมแต่สุดท้ายองค์ประชุมไม่พอ ก็ต้องมานั่งเสียเวลารอโดยใช่เหตุด้วย นอกจากนี้ ถ้าโครงการเรามีเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ หรือได้รับมติ เช่นอนุมัติค่าซ่อมทรัพย์ส่วนกลาง หรือคัดเลือกบริษัทรักษาความปลอดภัยรายใหม่ เรื่องสำคัญเหล่านี้ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ ซึ่งจะมีผลเสียตามมากับตัวโครงการคอนโดที่เราอยู่เองได้ในท้ายที่สุด 
    2.  อดใช้สิทธิเกี่ยวกับข้อบังคับ เช่นเรื่องจอดรถ - เสียสิทธิในการออกเสียงอนุมัติ และแก้ไขข้อบังคับคอนโดถ้าการประชุมครั้งนั้นๆ มีเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องต่างๆ ในข้อบังคับก็มักจะรวมเรื่องสำคัญๆ เช่น การจอดรถ ข้อห้ามเลี้ยงสัตว์ กฎการใช้ฟิตเนส ค่าปรับกรณีไม่ชำระค่าส่วนกลาง ซึ่งถ้าเราไม่เข้าประชุม เวลามีประชุมลงมติเรื่องเหล่านี้ เราก็จะเสียสิทธิในการออกเสียงเรื่องพวกนี้ไป หรือถ้าการประชุมครั้งไหนมีเรื่องแก้ไขข้อบังคับข้อที่เราไม่ชอบ เราก็ควรเข้าประชุมเพื่อใช้สิทธิแก้ไขเรื่องที่เราไม่ชอบนั้น
    3.  เสียสิทธิถอดถอนผู้จัดการที่ไม่ได้เรื่อง - เสียสิทธิในการเลือก หรือถอดถอนผู้จัดการถ้าการประชุมครั้งนั้นๆ มีเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรารู้อยู่แก่ใจว่าผู้จัดการทำหน้าไม่ดี หรือไม่สุจริต (เช่น ทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่เป็นเท็จ ไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ หรือตัวอย่างที่เคยเกิดก็เช่น บริษัทเจ้าของโครงการยังเหลือห้องขายไม่ได้เยอะ แล้วใช้สิทธิความเป็นเจ้าของห้อง แต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาเป็นผู้จัดการ ซึ่งอาจทำให้เกิด Conflict of Interest ผลประโยชน์ขัดกับเจ้าของห้องรายย่อยได้ ปัญหาสำคัญในการบริหารงานก็คืออาจเกิดความไม่เป็นกลางว่าจะบริหารงานเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมรายย่อย หรือบริษัทเจ้าของโครงการ) ดังนั้น เราควรเข้าประชุมเพื่อใช้สิทธิในการแต่งตั้ง หรือเอาผู้จัดการประเภทนี้ออกไป
    4.  คณะกรรมการ - เสียสิทธิในการเลือก หรือถอดถอนคณะกรรมการถ้ามีวาระการประชุมเรื่องนี้ โดยปกติคณะกรรมการต้องควบคุมการบริหารจัดการคอนโดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ในบางคอนโดโชคไม่ดี อาจเกิดปัญหาคณะกรรมการนิติบุคคลไม่ตรงไปตรงมา หรือร้ายยิ่งกว่านั้นตั้งแก๊งมาเฟียกันขึ้นมา ไม่ได้ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมโดยส่วนรวม แต่ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือพวกพ้อง ตัวอย่างที่เคยเกิดก็เช่น กรรมการเป็นเจ้าของห้องชุดร้านค้าด้านล่างของคอนโด แล้วใช้สิทธิความเป็นกรรมการออกเสียงให้นิติบุคคลคอนโดไปเช่าห้องชุดร้านค้านั้นจากกรรมการคนนี้ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ และเราควรใช้สิทธิเข้าประชุมเพื่อเลือกคนที่ดีที่สุด หรือจัดการคนที่ไม่ดีออกไป
    5.  เสียสิทธิพิจารณาเรื่องเงินๆ ทองๆ ของคอนโดเรา - เสียสิทธิในการตรวจสอบ อนุมัติ หรือทักท้วงตัวเลขค่าใช้จ่าย เงินคงเหลือ รายรับ สินทรัพย์ หรือหนี้สินในงบดุล เพราะการอนุมัติงบดุลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสามัญเสมอ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญถ้าเราไม่แน่ใจว่าผู้จัดการ หรือคณะกรรมการมีความโปร่งใสในเรื่องของการบริหารเงิน การใช้จ่ายเงิน หรือการดูแลรักษาเงินของโครงการอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องหรือไม่
    6.  ผู้สอบบัญชี - เสียสิทธิในการออกเสียงแต่งตั้ง หรือคัดค้านการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีถ้าวาระประชุมมีเรื่องนี้ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็เช่น คณะกรรมการมีเพื่อนเป็นผู้สอบบัญชีแล้วใช้สถานะความเป็นกรรมการแต่งตั้งเพื่อนคนนี้เป็นผู้สอบบัญชีคอนโด แต่เพื่อนดันทำงานไม่ดี หรือไม่ค่อยมีประสบการณ์ ทำให้เอกสารบัญชีคอนโดค่อนข้างบกพร่องไม่เรียบร้อย หากเจอแบบนี้ เราก็ควรเข้าประชุมเพื่อออกเสียงคัดค้านการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่อาจมีคุณสมบัติไม่ค่อยเหมาะสมนั้น
    7.  พิจารณาเรื่องอื่นๆ ที่ระบุอยู่ในรายงานประจำปี หรือหัวข้อการประชุมแต่ละครั้ง - เสียสิทธิในการพิจารณา หรืออนุมัติเรื่องอื่นๆ ที่ผู้จัดการหรือคณะกรรมการเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณา หรืออนุมัติ ตัวอย่างที่สำคัญก็เช่น การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายสำหรับปีต่อไป ประเด็นข้อพิพาทที่คอนโดมีปัญหากับบุคคลภายนอกเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง หรือลูกบ้านมีปัญหาไม่ลงรอยกันในการเลือกบริษัทเข้ามาติดตั้งจานดาวเทียมในโครงการ เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถ้าเราต้องการใช้สิทธิออกเสียง หรือคัดค้าน เราก็ควรเข้าประชุมในครั้งนั้นๆ ด้วย
    มอบฉันทะให้คนอื่นประชุมแทนได้ไหม?
    ถ้าเราไม่ว่าง ไม่สะดวกเข้าประชุม เราจะมอบฉันทะให้คนอื่นได้ไหม คำตอบคือทำได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักการ 3 ข้อนี้
    • การมอบฉันทะต้องทำเป็นหนังสือ 
    • ผู้รับมอบจะรับมอบฉันทะแทนคนอื่นเกิน 3 ห้องชุดไม่ได้
    • ห้ามแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เพราะกฎหมายห้าม กรรมการ (และคู่สมรส) ผู้จัดการ (และคู่สมรส) และพนักงาน หรือลูกจ้างของนิติบุคคลอาคารชุด ดังนั้น เราจะมอบฉันทะให้กรรมการคนใดคนหนึ่ง หรือผู้จัดการคอนโดออกเสียงแทนเราไม่ได้ 
    นอกจากนี้ ถ้าบังเอิญตัวเราเจ้าของคอนโดเองค้างค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เราจะถูกห้ามตามกฎหมายไม่ให้ใช้สิทธิออกเสียงในการประชุม ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จำไว้เลยว่า ถ้าไม่จ่ายค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือน หมดสิทธิหมดเสียงในคอนโดนั้นทันที
    ประชุมกันเมื่อไรบ้าง?
    ใน 1 ปีจะต้องจัดประชุมเจ้าของร่วมอย่างน้อยที่สุด 1 ครั้ง โดยหลักการแล้วคล้ายกับการประชุมบริษัทจำกัด คือในแต่ละปีจะต้องจัดอย่างน้อยที่สุด 1 ครั้ง (เรียกว่าประชุมสามัญ) ซึ่งจะต้องประชุมกันภายใน 120 วันนับจากวันสิ้นปีทางบัญชีของนิติฯ (ซึ่งวันสิ้นปีมักเป็นวันที่ 31 ธ.ค.) เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญคือ การพิจารณาอนุมัติงบดุล พิจารณารายงานประจำปี และแต่งตั้งผู้สอบบัญชี นอกจากการประชุมสามัญแล้ว ในระหว่างปีอาจมีการประชุมอื่นนอกเหนือจากประชุมสามัญได้ (เรียกว่าประชุมใหญ่วิสามัญ) ซึ่งการประชุมวิสามัญนี้จะมีเมื่อไร หรือจัดกี่ครั้งก็ได้ในระหว่างปี โดยบุคคลที่จะมีสิทธิเรียกประชุมวิสามัญได้คือ (ก) ผู้จัดการ (ข) คณะกรรมการโดยมติเกินครึ่งของที่ประชุมคณะกรรมการ และ (ค) เจ้าของร่วมรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 20% ของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด
    องค์ประชุมต้องกี่คน?
    จะประชุมกันได้ต้องมีองค์ประชุมก่อน ซึ่งองค์ประชุมจะเกิดได้ต้องมีคนมาประชุมรวมกันไม่น้อยกว่า 25% ของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมคอนโดทุกคน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือมาประชุมกันน้อยทำให้การประชุมครั้งแรกนี้จัดไม่ได้เพราะไม่ครบองค์ประชุม และต้องเลื่อนออกไปโดยจะต้องเรียกประชุมใหม่ใน 15 วัน โดยในการประชุมครั้งหลังนี้ จะไม่ต้องมีองค์ประชุมกันอีกแล้ว นั่นหมายความว่า ในการประชุมครั้งหลัง ไม่ว่าจะมีลูกบ้านมาร่วมกี่คน ก็สามารถเริ่มการประชุมได้เสมอ และมีมติในเรื่องทั่วๆ ไปได้ (เว้นแต่เรื่องสำคัญบางเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าต้องได้มติไม่น้อยกว่า 25% หรือ 50% ของจำนวนคะแนนเสียงของ "เจ้าของร่วมทุกคน" (ไม่ใช่แค่คะแนนเสียงของแค่ "ผู้เข้าร่วมประชุม")) 
    คะแนนเสียงใครมากน้อยกว่ากัน?
    ในการลงคะแนนเสียง เจ้าของร่วมแต่ละคนจะมีคะแนนเสียงเท่ากับอัตราส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง พูดอีกแบบก็คือ ไม่ได้ดูคะแนนเสียงจากจำนวนยูนิต (เช่น 1 ยูนิต หรือ 2 ยูนิต) แต่ให้ดูขนาดของยูนิต (เช่น 60 ตร.ม.) ดังนั้น คนที่มีจำนวนยูนิตเยอะ หรือมียูนิตที่มีขนาดใหญ่ คะแนนเสียงก็จะมากกว่าคนที่มียูนิตน้อย หรือยูนิตเล็ก อัตราส่วนเหล่านี้จะระบุชัดเจนเป็นรายห้องในข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดของคอนโดนั้นๆ พวกเราสามารถหยิบมาดูได้เลยครับ (ส่วนใหญ่ก็จะกำหนดอัตราเต็มเป็น 10,000 ส่วน แล้วแต่ละห้องก็จะมีสัดส่วน เช่น 10.20 หรือ 25.79 ส่วน เป็นต้น) 
    มติที่ประชุมต้องเป็นเท่าไร?
    โดยหลักแล้ว มติของที่ประชุมจะใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 50% ของลูกบ้าน "ที่เข้าประชุม" ยกเว้นแต่เรื่องสำคัญบางเรื่องจะต้องได้รับมติไม่น้อยกว่า 50% ของ "จำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด" (เช่น เรื่องขายทรัพย์ส่วนกลางที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ การแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์ส่วนกลาง การจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์ส่วนกลาง) หรือมติไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด (เช่น เรื่องแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการ) ทั้งนี้ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ และต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าจำนวนหนึ่งของคนทุกคนในคอนโด และจะใช้แค่มติของคนไม่กี่คนที่เข้าประชุมไม่ได้ 
    สรุปแล้วเวลาเราอยู่คอนโดแล้วเห็นหนังสือเรียกประชุมส่งมาให้เรา เราควรลองอ่านดูว่ามีวาระอะไรบ้างเพื่อที่เราจะได้ปกป้อง หรือใช้สิทธิของเราในฐานะเจ้าของคอนโดนะครับ คอนโดเราจะอยู่ได้นานไม่นาน ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเจ้าของทุกคน และการบริหารจัดการของผู้จัดการ และคณะกรรมการนิติฯ ซึ่งการประชุมในแต่ละครั้งก็คือเวทีให้เราไปยกมือใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของคอนโดอันเป็นที่รักของเรานั่นเองแหละครับ

    บทความล่าสุดอื่นๆ

    คอนโดติดรถไฟฟ้าล่าสุด

เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)